กรงนก

กรงนก เป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิมทางตอนใต้ ไม่ว่าจะเป็น กรงนกเขาชวา กรงนกกรงหัวจุก ซึ่งกรงนกมีไว้เพื่อประดับบ้านเรือน แต่ในปัจจุบันได้มีการเลี้ยงนกกรงหัวจุกกันอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้เกิดความต้องการกรงนกกรงหัวจุกที่ดี มีคุณภาพ และรูปทรงสวยงามมากขึ้นตามมาด้วย นักแข่งนกหลาย ๆ ท่านก็ได้หันมาเรียนรู้การทำกรงนกด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้สรรหากรงที่ถูกใจตนเองมากที่สุด และยังสามารถนำไปประกวดได้อีกด้วย ดังเช่น คุณสมชาย โภชนะ อดีตนักแข่งนก ที่ผันตัวเองมาเป็นช่างทำกรงนกมานานร่วม 20 ปี ซึ่งร้านของคุณสมชายตั้งอยู่แถวโรงเรียนบ้านม่าหนิก ตำบลเชิงทะเล

    “เมื่อก่อนผมก็ชอบแข่งนก ผมไม่ได้ทำงานด้านนี้โดยตรง แต่เพราะผมชอบ มันอิสระดี ผมเลยศึกษา แล้วก็หัดทำ ก็ได้งานจากเพื่อน ๆ ที่แข่งนกนี่แหละ เป็นคนส่งงานมาให้ ตั้งแต่นั้นผมก็เริ่มทำกรงนกอย่างจริงจังเรื่อยมา” คุณสมชาย เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการสร้างงานศิลป์ชิ้นนี้ และยังกล่าวต่อไปถึงสาเหตุความนิยมกรงนกที่เพิ่มมากขึ้น “สมัยก่อน ลูกค้าส่วนใหญ่จะสั่งทำแต่กรงนกธรรมดา คือเป็นกรงนกไม้เปล่า ๆ แต่ต่อมาก็มีการฝังลวดลายเพิ่มมากขึ้น ด้วยการใช้เปลือกหอย หรืองาช้าง มันเป็นการแสดงฐานะ และรสนิยม นักแข่งนกก็อยากให้นกได้แข่งในกรงดี ๆ สวย ๆ กรงนกลวดลายต่าง ๆ เลยเป็นที่นิยม”

เราจะขอกล่าวถึงกรงนกกรงหัวจุกเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นกรงที่นิยมมาก ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เช่น กรงแบบปัตตานี กรงแบบนราธิวาส กรงแบบนครศรีธรรมราช กรงแบบสิงคโปร์ กรงทรงกลมแบบถังเบียร์ กรงแบบสุ่มไก่ กรงทรงหกเหลี่ยม กรงทรงสี่เหลี่ยม กรงทรงสี่เหลี่ยมธรรมดา กรงทรงสี่เหลี่ยมดัดแปลง กรงแบบโดมมัสยิด กรงทรงสปอร์ต ฯลฯ ซึ่งราคากรงแต่ละใบมีตั้งแต่หลักไม่กี่ร้อยบาท ไปจนถึงหลักแสนบาทเลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับไม้ วัสดุที่นำมาทำลวดลาย ความยากง่ายของลวดลาย และที่ทำให้เราแปลกใจคือ ตะขอเกี่ยว ที่มีเริ่มต้นเพียงไม่กี่สิบบาท จนถึงราคาหลายพันบาท หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ทำ และขึ้นอยู่กับฝีมือของช่างแต่ละคน ถ้าเป็นฝีมือจากช่างชื่อดัง จะยิ่งมีราคาแพง

คุณทศพร โภชนะ ลูกชายของคุณสมชาย ก็มีโอกาสได้มาสืบสานงานฝีมือนี้ด้วยตนเอง ถึงแม้ประสบการณ์ที่ยังไม่มาก แต่ด้วยความมานะ ต้องการเอาชนะตัวเอง จึงทำให้กรงนกที่คุณทศพรได้แสดงฝีมือในการฝังลวดลายได้รับรางวัลจากการประกวดกรง ประเภทฝังมุก ในมหกรรมกีฬาพื้นบ้านประชันเสียงนกกรงหัวจุก ไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2555 สร้างความภูมิใจให้ตัวเอง และครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง
“อันที่จริงผมก็ไม่ได้สนใจอะไรเลย แต่พอมีโอกาสได้ลองทำ ผมจึงรู้สึกอยากเอาชนะตัวเอง อยากจะพัฒนางานแต่ละชิ้นให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ การทำกรงนก ทำให้ผมใจเย็นลง และมีสมาธิมากขึ้น ในอนาคต ถ้าผมมีเวลาว่างจากงานที่ผมทำประจำ ผมก็จะยังคงทำกรงนกต่อไป” คุณทศพรกล่าวเราขยับเข้ามาที่ถนนศรีสุทัศน์ บริเวณทางไปเกาะสิเหร่ เพื่อพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องกรงนกอีกท่าน เจ้า
ของร้านขายกรงนกสวรรยากรงนก ที่ให้บริการประกอบและจำหน่ายกรงนกทุกรูปแบบ รวมไปถึงรับซ่อม และจัดจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับการเลี้ยงนกครบวงจร ที่เปิดให้บริการมาเกือบ 10 ปี โดยคุณศราวุธ วงศ์ประเสริฐ หรือช่างเอ็ม และภรรยาคุณวาสิฐี เพชรมุนี

    คุณวาสิฐีกล่าวว่ากรงนกกรงหัวจุกที่นิยมทำมากที่สุด คือเป็นทรงสี่เหลี่ยมคางหมู มีสูงประมาณ 30 นิ้ว ด้านล่างกว้างประมาณ 14 นิ้ว มีส่วนประกอบสำคัญ 4 ส่วน ได้แก่ โครงกรง ซี่กรง หลังคา และหัวกรง รวมไปถึงอุปกรณ์ตกแต่งภายในกรง ที่เปรียบเสมือนการซื้อบ้านหรูให้นก ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบก็ต้องมีเฟอร์นิเจอร์ภายในที่ได้คุณภาพเช่นกัน

“การเลือกไม้ทำกรงนก ไม่ใช่ว่าเจ้าของนกชอบเพียงอย่างเดียว แล้วจะเลือกไม้อะไรก็ได้ ถ้าเป็นการเลี้ยงนกทั่ว ๆ ไป อาจจะใช่ แต่หากเป็นกรงนกสำหรับแข่ง สีของไม้ กลิ่นของไม้จะมีผลต่อการส่งเสียงร้องของนกด้วย ดังนั้นเจ้าของจะต้องรู้จักนิสัยนกถึงจะเลือกไม้ได้ตรงใจนกมากที่สุด ส่วนเรื่องลวดลายนั้นเป็นรสนิยมของเจ้าของนกเป็นผู้เลือก”

วัสดุหลักในการทำกรงนก คือไม้เนื้อแข็ง เช่นไม้ขาวดำ (เสาดำ) ไม้แดง ไม้ม่วงป่า ไม้รักเขา ไม้พะยูง ไม้นาคบุตร ฯลฯ ซึ่งเมื่อได้ไม้มาแล้วจะถูกนำมาเลื่อยเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ โดยเริ่มจากการผ่าไม้ออกมาเพื่อทำเป็นโครงกรง คือ ไม้เสา 4 ชิ้น ซึ่งอาจจะเป็นเสาไม้ธรรมดา หรือเสาไม้แกะสลัก และฝังมุกก็ได้ ไม้เสาจะมีความสูงประมาณ 32 นิ้ว ไม้คานบน มียาวประมาณ 12 นิ้ว จำนวน 5 อัน ไม้คานล่าง ยาวประมาณ 14 นิ้ว จำนวน 5 อัน ไม้คั่นกรง หรือ เอว ยาวประมาณ 12.5 นิ้ว จำนวน 4 อัน ซึ่งกรงที่มีการติดเอว ซี่กรงจะไม่ใหญ่มาก แต่หากไม่มีเอว ซี่กรงจะต้องใหญ่ขึ้น เพื่อป้องกันนกบินออกได้ ไม้คานบน ไม้คานล่าง และไม้คั่นกรงนั้น จะต้องวัดขนาด และเจาะรูด้วยสว่านตาเล็ก เจาะทะลุบนสันให้รับกัน เพื่อไว้เสียบซี่กรง

ถัดมาเป็นซี่กรง จะใช้วัสดุทำหลากหลายแบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการและงบประมาณ โดยอาจจะใช้ไม้เนื้อเดียวกับที่ทำโครงกรง เช่น ไม้ขาวดำ ไม้พยุง ไม้มะค่า ไม้รัก ไม้ไผ่ เรซิ่น โดยมีการถือเคล็ดเกี่ยวกับจำนวนรูที่เจาะ โดยจะเจาะเป็นจำนวนคี่ เช่น 13, 15, 17, 19, 21 ไปจนถึง 29 รู หากเจาะเป็นคู่ เชื่อกันว่า จะทำให้นกเจ็บป่วย ขันไม่ดี ซึ่งจำนวนของซี่กรงนี้ ใช้เรียกเป็นขนาดของกรงนกด้วยเช่นกัน เช่น ใช้ซี่ 13 ซี่ ก็เรียก กรงขนาด 13 ซี่ แต่ปัจจุบันมีการเพิ่มกรงขนาด 9 ซี่ เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายนกไปสถานที่ต่าง ๆ และเหมาะสำหรับการแข่งขันนกบางประเภท ส่วนกรงสำหรับแข่งนั้น มักจะใช้ขนาด 11, 13,15 และ 17 ซี่ แล้วแต่ความชอบของนกเช่นกัน แต่หากเป็นกรงขนาด 19 ซี่ขึ้นไป มักจะใช้สำหรับพักนกหลังจากแข่งขัน กรงยิ่งมีขนาดใหญ่แค่ไหน จะช่วยลดความเครียด ความอึดอัดให้กับนกมากเท่านั้น ไม่ต่างกับมนุษย์เราเลย ที่ต้องการความสบายในการใช้ชีวิต ดังคำที่ว่า คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก

สำหรับซี่กรงตรงส่วนด้านล่างสุดของกรง มักจะใช้ซี่ที่ใหญ่กว่า เพื่อเป็นการถ่วงน้ำหนักของกรง เวลาแข่งขันจะได้ไม่แกว่งไปมาได้ง่าย
ต่อมาคือหลังคา ก็จะมีหลายแบบเช่นกัน ทั้งหลังคาแบบเรียบ แบบพัดลม หรือฝาชี (มีลักษณะโค้งเป็นโดม) เป็นต้น ส่วนสุดท้ายคือ หัวกรงจะทำจากไม้เนื้อแข็งชนิดต่าง ๆ เรซิ่น หรืองาช้าง ส่วนนี้จะมีการแกะสลักเป็นรูปทรงที่สวยงาม ไว้สำหรับติดตะขอเพื่อแขวนกรงนก

ส่วนอุปกรณ์ภายในจะมี พานกลาง (คอนกลาง) คอนปืน (คอนข้าง) ห่วงสำหรับให้นกเกาะ ขาถ้วย (ที่วางแก้วน้ำ) ที่เสียบอาหาร ประตูกรง และกรงบางใบอาจมีการใส่ตุ้มตีน (ฐานเสากรงทั้ง 4 ด้าน) แล้วแต่ความชอบอีกด้วย

การทำกรงแต่ละใบจะใช้เวลาไม่เท่ากัน บางใบนั้นใช้เวลาเป็นอาทิตย์ แต่บางใบใช้เวลาเป็นเดือนก็มี โดยเฉพาะกรงที่มีลวดลายมาก อาจใช้เวลายาวนานกว่าหนึ่งเดือน ส่วนวิธีการทำกรงนกนั้น คุณศราวุธกล่าวว่า จะเริ่มจากการผ่าไม้ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของกรงจะเป็นคนหาไม้มาให้เอง แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน เมื่อได้ไม้มาแล้วก็จะไสไม้เพื่อเตรียมสำหรับทำชิ้นส่วนกรง แล้วจึงนำกระดาษที่วาดลวดลายไว้มาติดลงบนไม้ และฉลุลวดลายตามแบบ หลังจากนั้นก็ฝังลวดลายด้วยเปลือกหอย หรืองาช้าง ซึ่งขั้นตอนนี้ เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะเป็นงานฝีมือ ที่ผู้ทำต้องใช้ความอดทน และความประณีตเป็นอย่างสูง ส่วนความยากง่ายของการฝังลายขึ้นอยู่กับความละเอียดของลวดลาย ซึ่งมีอยู่มากมาย เช่น ลายผ่าวาฬ ลายปีกนก ลายผีเสื้อ ดอกไม้ ฯลฯ

เสร็จแล้วจึงนำชิ้นส่วนทุกชิ้นไปประกอบขึ้นรูปกรง โดยรอยต่อของโครงกรงนกนั้นจะใช้สลักไม้เพื่อเชื่อมต่อกัน ก่อนจะใส่ชิ้นส่วนภายในของกรงนก เช่น คอนกลาง คอนข้าง และห่วงเกาะ และต้องขัดไม้กรงให้เรียบ แล้วจึงใส่ซี่กรงตามช่องที่เจาะไว้ ใส่ปุ่มกลึง ด้านบนและล่างของกรง ใส่แป้นจานโครงหลังคา หัวกรง และสุดท้ายคือติดตะขอ

เห็นได้ว่า กว่าจะได้กรงนกสักใบ ต้องผ่านหลายขั้นตอนจริง ๆ ค่ะ จึงไม่ต้องแปลกใจหากจะเห็นกรงนกใบเล็ก ๆ ใบหนึ่งถูกตั้งราคาไว้สูงมาก นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีผู้สนใจทำกรงนกมากขึ้น ถือเป็นเรื่องดี เพราะเราจะได้มีคนสืบสานงานหัตถศิลป์ดี ๆ แบบนี้ต่อไป แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถสร้างงานศิลปะชิ้นนี้ออกมาได้ดี

กรงนกกรงหัวจุกนั้น ถือเป็นงานศิลปะที่ใช่ว่าใครก็ทำได้ หากไม่มีความรัก และความใส่ใจ การจะทำกรงนกที่งดงามก็คงเป็นไปได้ยาก และถึงแม้ว่าวิธีการทำกรงนกจะยุ่งยากแค่ไหน แต่อย่างน้อยเราก็ยังมั่นใจได้ว่า ในอนาคตเราจะยังมีผู้สืบสานงานหัตถศิลป์บนชิ้นไม้เหล่านี้ต่อไป